ผู้เขียน ศุภธวดี นุ่นเกิด, ฉัตรชยา เตชทิพากร, ณัติวัฒน์ พรหมจิตร
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยมีการประกาศสภาวะฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการเดินทางทั้งในและระหว่างประเทศ การปิดสถานประกอบการต่าง ๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจท่องเที่ยวที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ส่งผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องสำคัญในการเดินหน้าประเทศไทยแม้ว่าจะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคก็ตาม โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการดำเนินโครงการต่าง ๆ ทั้งภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สมุยพลัส การเปิดพื้นที่สีฟ้า หรือแม้แต่โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ล้วนก็เป็นนโยบายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้จำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยร่วมด้วยเป็นสำคัญ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีการกำหนดเงื่อนไขสำหรับการเดินทางในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการคัดกรองเบื้องต้นเพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว เช่น เอกสารรับรองการฉีดวัคซีน การแสดงผลตรวจโควิด-19 ซึ่งอันที่จริงแล้วก็สอดคล้องกับนโยบายของหลายประเทศที่มีเงื่อนไขในการรับนักท่องเที่ยวโดยจำเป็นต้องมีเอกสารต่าง ๆ เช่น เอกสารแสดงผลตรวจโควิด-19 (COVID-19 test result) เอกสารแสดงผลว่าเคยติดเชื้อและหายจากโรค (certificate of recovery) ใบรับรองการฉีดวัคซีน (vaccine certificate) หรือที่เราเรียกกันคุ้นหูว่า วัคซีนพาสปอร์ตนั่นเอง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นเกณฑ์ในการคัดกรองเบื้องต้นสำหรับผู้เดินทาเข้า-ออกประเทศนั้น ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าวัคซีนพาสปอร์ตที่เราเรียกกันติดปาก ที่จริงแล้วจะต้องเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันที่ทุกประเทศยอมรับ เช่นเดียวกับหนังสือเดินทางที่เราใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ซึ่งต่างจากใบรับรองการฉีดวัคซีนที่เป็นเอกสารระบุว่าบุคคลนั้นได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบตามที่กำหนด โดยในปัจจุบันแต่ละประเทศยังใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนในรูปแบบต่างกัน
เมื่อกล่าวถึงวัคซีนพาสปอร์ตกับประเทศไทยนั้น อาจจะยังไม่มีข้อบังคับใช้ที่ชัดเจนมากนักแต่ก็จำเป็นสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปยังประเทศที่กำหนดให้แสดงวัคซีนพาสปอร์ต โดยในประเทศไทยสามารถติดต่อขอออกวัคซีนพาสปอร์ตได้จากหน่วยบริการต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขในกรุงเทพฯ และเขตสุขภาพ 12 เขต ทั่วประเทศ (ตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการและขั้นตอน >> ที่นี่)
ถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการใช้ระบบวัคซีนพาสปอร์ตอย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็มีการพัฒนาระบบที่เรียว่า “digital health pass” ซึ่งเป็นเอกสารรับรองสุขภาพดิจิทัลที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขในรูปแบบ QR code บนแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม โดยจะแสดงข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 (สถานที่ที่ได้รับวัคซีน ชนิดวัคซีน และหมายเลขการผลิต) ผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จากสถานพยาบาลที่เข้าร่วม หรือด้วยวิธี Antigen Test Kit (ATK) จากคลินิกและร้านขายยาที่เข้าร่วม และผลการตรวจหา antibody ชนิด lgG ใน serum โดย digital health pass ในไทยนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้แสดงสถานะการฉีดวัคซีนและผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับการเดินทางภายในประเทศร่วมกับ 7 สายการบิน รวมไปถึงการเข้าใช้บริการสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศ
หลังจากที่รัฐบาลไทยได้มีนโยบายเปิดประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้มาตรการป้องกันโรค แต่ก็ยังคงมีประเด็นถกเถียงเกิดขึ้นในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือการกำหนดให้ใช้วัคซีนพาสปอร์ตอย่างเต็มรูปแบบก็ตาม รัฐบาลควรกำหนดแนวทางและพัฒนาการใช้เครื่องมือดังกล่าวให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยเพื่อลดปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านสิทธิมนุยชน ความเหลื่อมล้ำในสังคมและความปลอดภัยของข้อมูล
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายการเดินทางและการใช้ใบรับรองวัคซีนทั่วโลกได้ที่