ผู้เขียน: ศุภธวดี นุ่นเกิด, ฉัตรชยา เตชทิพากร, ณัติวัฒน์ พรหมจิตร
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศกำหนดมาตรการจำกัดการเดินทางทั้งในและนอกประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ดังนั้นเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้ประเทศสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปได้
รัฐบาลในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้มีการกำหนดนโยบายรวมทั้งการจัดสรรวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชนในประเทศ และเริ่มมีแนวคิดการใช้วัคซีนพาสปอร์ต ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้นโยบายดังกล่าว ก็นำไปสู่คำถามที่ว่าการฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้จริงหรือ หากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจะถูกจำกัดเสรีภาพต่าง ๆ หรือไม่ วัคซีนพาสปอร์ตเป็นนโยบายที่มีเพื่อบังคับประชาชนให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า แต่หลายประเทศยังคงเดินหน้าใช้วัคซีนพาสปอร์ต แม้ได้รับเสียงคัดค้านจากประชาชนบางส่วนก็ตาม
ทั้งนี้ สิ่งที่เรียกว่าวัคซีนพาสปอร์ตที่ใช้กันทุกวันนี้นั้น จริง ๆ แล้วยังไม่ใช่ “พาสปอร์ต” เสียทีเดียว เพราะยังไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกันที่ทุกประเทศยอมรับเช่นหนังสือเดินทางที่ใช้กันทั่วไป แต่คือ “ใบรับรองการได้รับวัคซีน” หรือ vaccine certificate โดยใบรับรองการได้รับวัคซีนเป็นเอกสารที่ยืนยันว่าบุคคลนั้นได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบตามที่กำหนด เพื่อใช้ในการเดินทางเข้าประเทศ และในบทความนี้ จะเรียกเอกสารนี้ว่าวัคซีนพาสปอร์ตตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ และนอกจากนี้ ยังมี “ใบรับรองการมีภูมิคุ้มกัน” หรือ immunity certificate อีกด้วย โดยเป็นเอกสารยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วและผลเป็นลบ หรือหายจากการป่วยด้วยโควิด-19 ด้วย
ในแต่ละประเทศจะมีชื่อเรียกวัคซีนพาสปอร์ตที่แตกต่างกัน เช่น มีการใช้ “Green Pass” ในอิสราเอล “Virus Passport” ในจีน “EU Digital COVID Certificate” ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) “NHS App” ของอังกฤษ และ “Corona Pass” ในเดนมาร์ก หรือแม้กระทั่งสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(IATA) ก็มีการใช้ “Travel Pass Application” เป็นมาตรฐานกลางในการเดินทางทางอากาศที่ได้รับการยอมรับจากบางประเทศ เช่น สิงคโปร์
ทั้งนี้ ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส บราซิล และประเทศไทยก็ยังคงมีประเด็นถกเถียงในเรื่องการใช้วัคซีนพาสปอร์ตอย่างกว้างขวางในหลายมิติ
ด้านสิทธิมนุษยชน
จากมาตรการของหลาย ๆ ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สกอตแลนด์ บราซิล มีแนวคิดให้แสดงวัคซีนพาสปอร์ตก่อนเข้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั้งร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ รวมไปถึงสิทธิในการทำธุรกิจ หรือแม้แต่การสมัครงาน ทำให้หลายคนมองว่านโยบายวัคซีนพาสปอร์ต อาจเป็นนโยบายภาคบังคับทางอ้อมได้ นอกจากนี้ยังมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแสดงข้อมูลบนวัคซีนพาสปอร์ต ว่าอาจจะเป็นการริดรอนเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวในการเดินทาง เนื่องจากข้อมูลจะถูกรวบรวมไว้ที่หน่วยงานรัฐ
ด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม
เมื่อพิจารณาในมุมมองด้านสังคม การมีวัคซีนพาสปอร์ตจะแบ่งประชาชนทั่วโลกออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งทำให้ประชาชนกลุ่มแรกได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การเดินทางระหว่างประเทศ การอนุญาตเข้าสู่สถานที่หรือสถานประกอบการต่าง ๆ ในขณะที่ประชาชนอีกกลุ่มจะไม่สามารถทำได้ ซึ่งเป็นการสร้างช่องว่างทางสังคมให้ย่ำแย่ลงไปอีก อีกทั้งถ้าพิจารณาเข้าไปถึงการที่บุคคลในสังคมมีเศรษฐานะแตกต่างกัน ก็พบว่ายังมีประชาชนบางส่วนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนที่สามารถรองรับวัคซีนพาสปอร์ตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ นำมาสู่การเลือกปฏิบัติและปล่อยทิ้งประชาชนบางกลุ่มไว้ข้างหลังหากนโยบายดังกล่าวถูกบังคับใช้ไปทั่วโลก ดังนั้นรัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนบังคับใช้นโยบายวัคซีนพาสปอร์ต
ด้านความปลอดภัยของข้อมูลบนวัคซีนพาสปอร์ต
วัคซีนพาสปอร์ตจะแสดงข้อมูลต่าง ๆ ทั้งชื่อบุคคล วันเกิด วันที่รับวัคซีน ประเภทของวัคซีนที่ได้รับและข้อมูลการตรวจพบเชื้อโควิด-19 นอกจากข้อมูลนี้ อาจมีการรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพที่ละเอียดอ่อนอื่น ๆ เช่น สภาวะทางสุขภาพ โรคประจำตัว และอาจรวมไปถึงการบันทึกพิกัดตำแหน่ง และที่อยู่อาศัยเป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลอ่อนไหวที่ต้องระมัดระวังทั้งการส่งต่อ การเก็บรักษา และแหล่งที่มาของข้อมูล โดยเฉพาะวัคซีนพาสปอร์ตในรูปแบบที่มีการติดตามผู้สัมผัส (contact tracing) ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวเพราะข้อมูลดังกล่าวจะแสดงทั้งรายละเอียดบุคคล สถานที่ และเวลา ตลอดการเดินทาง การขออนุญาตเข้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่ต้องใช้วัคซีนพาสปอร์ต จะต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวดังกล่าว จึงเป็นข้อกังวลต่อการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ฉะนั้น ผู้ให้บริการระบบวัคซีนพาสปอร์ต ควรกำหนดนโยบายความเป็นส่วนตัว และใช้ข้อมูลที่จำเป็นในการสร้างหนังสือเดินทางเท่านั้น อาทิ ชื่อ วันเกิด และวันที่ฉีดวัคซีน ที่เพียงพอจะตรวจสอบการได้รับวัคซีน และมีการเข้ารหัสข้อมูลผู้ให้และผู้ใช้บริการ
ในปัจจุบัน แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกก็ยังไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนพาสปอร์ต เนื่องจากหลายประเทศยังขาดแคลนวัคซีน แต่อย่างไรก็ตามในอนาคตเมื่อการฉีดวัคซีนครอบคลุมเพิ่มขึ้นทั่วโลก อาจมีการพิจารณาให้ใช้ได้
การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการใช้วัคซีนพาสปอร์ตมีความละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงสามารถเกิดเป็นประเด็นการถกเถียงในสังคมได้ จึงควรให้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เหมาะสมกับบริบททางสังคมของประเทศต่าง ๆ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ใบรับรองวัคซีนที่จัดทำโดยโครการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ร่วมกับหน่วยงานภาคีระดับภูมิภาค ได้ระบุว่า ประชาชนได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการใช้วัคซีนพาสปอร์ต เนื่องจากส่งผลให้การเดินทางสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโควิด-19 ความไม่เท่าเทียมหรือแม้กระทั่งปัญหาทางจริยธรรม เช่น การเข้าถึงวัคซีน ชนิดของวัคซีนที่ได้รับการยอมรับ การปลอมแปลงข้อมูล ภาษาที่ใช้ในวัคซีนพาสปอร์ต รวมถึงยังมีประชาชนบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้
สุดท้ายนี้ คำถามที่ประชาชนยังคงสงสัยเกี่ยวกับการใช้วัคซีนสูตรไขว้ของประเทศไทยว่าจะได้รับการยอมรับจากต่างประเทศหรือไม่ วัคซีนครบโดสคืออะไร คนที่ฉีดครบ 2 โดสควรจะทำอย่างไรและคนที่ได้ครบ 3 โดสควรทำแบบไหน หรือคนที่ได้วัคซีน Johnson&Johnson เพียงโดสเดียวจะเพียงพอหรือไม่ รวมถึงมีความคิดเห็นที่ว่าควรฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรอย่างน้อย 60% ก่อนที่จะเริ่มใช้วัคซีนพาสปอร์ตสำหรับการเดินทางก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญที่ยังต้องติดตามกันต่อไป
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า การกำหนดนโยบายเรื่องวัคซีนพาสปอร์ตมีสิ่งที่ต้องพิจารณาและหารือกันในหลากหลายมิติ เพื่อกำหนดมาตรฐานในการดำเนินงานที่เหมาะสมให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ นานาประเทศกำลังพัฒนานโยบายดังกล่าวให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายวัคซีนพาสปอร์ตและการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก ได้ที่ https://vaxcert.info/